วิสัยทัศน์/พันธกิจจังหวัดร้อยเอ็ด

แผนพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2561 – 2564 ฉบับปี พ.ศ. 2562 ได้จัดทำบนพื้นฐานของกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ซึ่งเป็นแผนหลักของการพัฒนาประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รวมทั้ง การนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพทั่วไป ปัญหาและความต้องการของประชาชน ตลอดจนการประเมินผลการพัฒนาที่ผ่านมา ศักยภาพการพัฒนาในปัจจุบัน และโอกาสในการพัฒนาในอนาคตของจังหวัด โดยนำมาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค มาจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2561-2564 ฉบับปี พ.ศ. 2562 ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

1. เป้าหมายการพัฒนา
"เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง ท่องเที่ยววัฒนธรรมอีสานและเมืองสุขภาพ ในปี พ.ศ.2564"

2. พันธกิจ

  1. ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมเพิ่มศักยภาพการบริหารทรัพยากรและสินค้าการเกษตรให้เป็นเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย
  2. พัฒนาให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน เชื่อมโยงการบริการ สินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้ง วัฒนธรรมอีสาน ค่านิยม และประเพณีที่ดีงาม สามารถผสมผสานกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน
  3. พัฒนาคนให้มีคุณภาพ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ รายได้ ให้ภาคประชาสังคม และส่งเสริมให้มีการดำเนินชีวิตตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพ
  5. สร้างความมั่นคงภายในและส่งเสริมการให้บริการภาครัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

 

3.วัตถุประสงค์รวม

  1. ข้าวหอมมะลิและผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิมีมูลค่าสูงและได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันได้
  2. ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี หลุดพ้นความยากจน พึ่งตนเองได้


4.ประเด็นการพัฒนา

  1. เพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตร สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และอาหารปลอดภัย
  2. ยกระดับการท่องเที่ยว การบริการ การค้า และการลงทุน
  3. พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน และสังคม ให้เข้มแข็ง
  4. สร้างความสมดุลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีคุณภาพและยั่งยืน
  5. รักษาความมั่นคงภายใน และการบริหารจัดการภาครัฐ


5.แผนงานตามประเด็นการพัฒนา
ประเด็นการพัฒนาที่ 1 เพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และอาหารปลอดภัย


วัตถุประสงค์ของประเด็นการพัฒนา

  1. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตร มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย
  2. เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตรของจังหวัดเติบโตเพิ่มขึ้น

เป้าหมายและตัวชี้วัด

  1. ผลผลิตข้าวหอมมะลิเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น (10 กิโลกรัมต่อปี)
  2. อัตราการขยายตัวมูลค่าผลผลิตภาคการเกษตร (ร้อยละ 2 ต่อปี)
  3. ร้อยละของจำนวนแปลงฟาร์มเป้าหมายที่ปลูกข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตรได้รับมาตรฐานเกษตรปลอดภัย/เกษตรอินทรีย์ (ร้อยละ 60)
  4. พื้นที่การเกษตรแบบแปลงใหญ่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเพิ่มขึ้น 50 แปลง
  5. ร้อยละของหมู่บ้านมีตลาดสินค้าเกษตรชุมชนในปี 2564 (ร้อยละ 50)

แนวทางการพัฒนา

  1. พัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และพื้นที่ที่มีศักยภาพของจังหวัดเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงภายใต้มาตรฐานเกษตรปลอดภัยและอินทรีย์
  2. ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไม่เหมาะสมไปสู่สินค้าเกษตรชนิดใหม่ หรือเกษตรกรรมทางเลือก
  3. พัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร และแปรรูป ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้เกษตรอินทรีย์ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
  4. ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรให้พึ่งตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  5. ส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรในท้องถิ่นและตลาดอิเล็กทรอนิกส์อย่างทั่วถึง

ประเด็นการพัฒนาที่ 2 ยกระดับการท่องเที่ยว การบริการ การค้า และการลงทุน
วัตถุประสงค์ของประเด็นการพัฒนา

  1. เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การบริการ การค้า และการลงทุน
  2. เศรษฐกิจดีและมีอัตราการขยายตัวมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคนอกการเกษตรของจังหวัดเพิ่มขึ้น

เป้าหมายและตัวชี้วัด

  1. มูลค่าการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 2 ต่อปี)
  2. รายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 5 ต่อปี)
  3. อัตราการขยายตัวภาคบริการเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 2 ต่อปี)
  4. รายได้จากการจำหน่ายสินค้า OTOP เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 10 ต่อปี)

แนวทางการพัฒนา

  1. พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน และส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวและงานประเพณี วัฒนธรรมอีสานต่อเนื่องทั้งปี
  2. พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ให้ได้มาตรฐาน
  3. ส่งเสริมตลาดการค้า การลงทุน อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และส่งเสริมการจัดบริการ สุขภาพ (Medical Hub)
  4. พัฒนาผู้ประกอบการและเศรษฐกิจชุมชน และพัฒนา SMEs เพื่อการค้าและส่งออก


ประเด็นการพัฒนาที่ 3 พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน และสังคม ให้เข้มแข็ง
วัตถุประสงค์ของประเด็นการพัฒนา

  1. เพื่อให้คนได้รับการพัฒนาเหมาะสมตามวัย มีคุณภาพ เป็นคนดีคนเก่ง มีอาชีพมีรายได้
  2. คนมีสุขภาวะที่ดี สังคมเข้มแข็ง

เป้าหมายและตัวชี้วัด

  1. ร้อยละของเด็กและเยาวชนได้รับการเรียนรู้ พัฒนาทักษะชีวิตตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ร้อยละ 100)
  2. ไอคิวของเด็ก เยาวชน อายุ 6 – 15 ปี เฉลี่ยเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2564 เท่ากับ 101
  3. อัตราการตายของผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน และทางเดินหายใจเรื้อรังลดลง ร้อยละ 20
  4. ร้อยละของผลิตภาพแรงงานจังหวัดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2 ต่อปี
  5. ร้อยละของผู้สูงอายุเข้าสู่ระบบการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (ร้อยละ 95)
  6. ร้อยละของครัวเรือนยากจนเป้าหมายที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. ลดลง (ร้อยละ 80)

แนวทางการพัฒนา

  1. ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพเท่าเทียมและทั่วถึง
  2. สร้างเสริมให้คนมีสุขภาวะที่ดีและสร้างเมืองสุขภาพ
  3. สร้างความเสมอภาครองรับสังคมผู้สูงอายุ และจัดสวัสดิการสังคมให้มีคุณภาพ
  4. พัฒนาและยกระดับผลิตภาพแรงงาน
  5. แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม


4 ประเด็นการพัฒนาที่ 4 สร้างความสมดุลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพและยั่งยืน
วัตถุประสงค์ของประเด็นการพัฒนา

  1. เกษตรกรมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรเพียงพอตลอดทั้งปี
  2. คืนความอุดมสมบูรณ์ สร้างความสมดุลแก่ระบบนิเวศน์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เป้าหมายและตัวชี้วัด

  1. ร้อยละของหมู่บ้านมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรเพียงพอตลอดทั้งปี (ร้อยละ 95 ต่อปี)
  2. พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น จำนวน 600 ไร่/ปี
  3. ขยะมูลฝอยชุมชนและของเสียอันตรายชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 15
  4. ครัวเรือนมีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นต่อปี ร้อยละ 0.5

แนวทางการพัฒนา

  1. พัฒนาแหล่งน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  2. ฟื้นฟูป่าไม้ให้อุดมสมบูรณ์และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ต้นน้ำและป่าชุมชน
  3. บริหารจัดการแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นระบบและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ให้มีคุณภาพ
  4. พัฒนาและใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ประเด็นการพัฒนาที่ 5 รักษาความมั่นคงภายในและการบริหารจัดการภาครัฐ
วัตถุประสงค์ของประเด็นการพัฒนา

  • ประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้รับบริการจากหน่วยงานภาครัฐด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม

เป้าหมายและตัวชี้วัด

  1. ร้อยละของจำนวนคดีอาชญากรรมในคดี 5 กลุ่ม จับกุมผู้กระทำผิด (ร้อยละ 85)
  2. จำนวนหมู่บ้านสีขาวปลอดยาเสพติด (ร้อยละ 95)
  3. อัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลง 2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่อปี
  4. ร้อยละของระดับความพึงพอใจของผู้รับบริการต่อหน่วยงานภาครัฐ (ร้อยละ 90)

แนวทางการพัฒนา

  1. เสริมสร้างการมีส่วนร่วมด้านความมั่นคงภายในให้มีประสิทธิภาพ
  2. ป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด
  3. เพิ่มศักยภาพการเตรียมความพร้อมรองรับการเกิดอุบัติภัยทางธรรมชาติ
  4. เพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและการให้บริการภาครัฐ